
ในปัจจุบันนี้มีแนวคิดใหม่ๆเกี่ยวกับแนวทางการเลี้ยงดูบุตรเกิดขึ้นมากมาย
บ้างก็กล่าวถึงการปล่อยให้เด็กมีอิสระมากที่สุดเพื่อให้เด็กมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์
ซึ่งอาจทำให้เกิดการละเลยในการสร้างระเบียบและวินัยให้กับเด็ก
บ้างก็เข้มงวดอยู่ในกรอบห้ามออกนอกกรอบที่ขีดไว้
ในการอบรมสั่งสอนนั้นผู้ใหญ่ต้องเข้าใจความสมดุลโดยไม่ควรเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง
ทำอย่างไรจะเข้าใจความสมดุลในสองอย่างนี้
ก่อนอื่นให้เรามาทำความเข้าใจถึงความสำคัญของทั้งสองอย่างนี้กันก่อน
ความสำคัญของการมีระเบียบวินัย
การสร้างวินัยเป็นการวางรากฐานชีวิต
เปรียบเหมือนการตอกเสาเข็มเพื่อจะสร้างบ้าน
คงไม่มีใครสร้างบ้านหรือสร้างตึกโดยการสร้างตัวตึกหรือตัวบ้านก่อน
ตึกจะใหญ่โตมากเท่าไรยิ่งต้องตอกเสาเข็มลงลึกมากเท่านั้น
การวางรากฐานระเบียบวินัยในช่วง 6
ขวบปีแรกของชีวิตจะส่งผลต่อช่วงชีวิตที่เหลือทั้งหมด
ทั้งลักษณะชีวิต ลักษณะนิสัย
และลักษณะการดำเนินชีวิต
เช่นสร้างวินัยเรื่องความสะอาด
เด็กก็จะโตขึ้นมีลักษณะนิสัยรักความสะอาด
ความสำคัญของการมีความคิดสร้างสรรค์
ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่ทำให้โลกเรามีความเจริญมากขึ้นเรื่อยๆ
ไม่เช่นนั้นตอนนี้เราก็คงยังอาศัยอยู่ในถ้ำ
ก่อกองไฟทำอาหาร และใช้ใบไม้แทนเสื้อผ้า
หากขาดความคิดสร้างสรรค์โลกนี้ก็คงเหมือนกับโทรทัศน์จอขาวดำที่มีแต่สีขาวและสีดำ
ไม่มีสีสันสดใสสวยงาม ไม่มีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
เคยเป็นอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้นตลอดไป
จะเป็นอย่างไรถ้าขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง
เด็กที่ถูกสอนให้มีระเบียบวินัยแต่ไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์มักจะเป็นเด็กขาดความร่าเริงและไม่มีชีวิตชีวา
เมื่อโตขึ้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มีระเบียบวินัยแต่ขาดความยืดหยุ่นในชีวิต
บางคนก็จะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงชอบที่จะอยู่อย่างไรก็อยู่อย่างนั้น
ส่วนเด็กที่ไม่ได้รับการอบรมให้อยู่ในระเบียบวินัยแต่ได้รับการส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์มักจะเป็นเด็กที่ไม่เชื่อฟังและเอาแต่ใจตัวเอง
เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่จะเป็นคนที่สร้างสรรค์งานใหม่ๆ
ได้ดี มีความสามารถ
แต่มักจะรักอิสระและไม่ชอบอยู่ในกรอบ
จะทำอย่างไรถ้าวินัยสร้างโดยการตีกรอบในขณะที่ความคิดสร้างสรรค์ส่งเสริมโดยการให้อิสระ
คำตอบคือ ใช้หลักการ
การให้มีอิสระภายใต้กรอบที่ถูกต้อง
สอนให้รู้จักกรอบก่อน
แล้วให้เขามีอิสระภายใต้กรอบนั้น
เด็กจะไม่รู้จักกรอบที่ถูกต้องถ้าผู้ใหญ่ไม่บอกเขา
อันที่จริงแล้วเด็กอยากที่จะเรียนรู้กรอบที่ถูกต้อง
หรือพูดอีกอย่างคือเด็กต้องการที่จะเรียนรู้จักกฎของสังคมเพื่อจะอยู่ในสังคมได้
เด็กจะรู้สึกเคว้งคว้าง
ไม่ปลอดภัยเมื่อเขาไม่มีกรอบในการดำเนินชีวิต
เหมือนกับเด็กกำพร้าที่ไม่มีผู้ใหญ่คอยสั่งสอน
เขาจะรู้สึกไม่มั่นคงจึงอาจถูกชักพาไปในทางที่ผิดได้ง่าย
เด็กจะขาดกรอบไม่ได้และในขณะเดียวกันก็ขาดอิสระไม่ได้เช่นกัน
“อบรมสั่งสอน”
และ
“ส่งเสริม”
ระเบียบวินัยไม่ได้เกิดขึ้นเองเป็นสิ่งที่ต้องสร้างให้เกิดในเด็ก
การคิดว่าเดี๋ยวโตขึ้นเขาก็รู้เองนั้นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง
ดังนั้นเราจึงมักจะใช้คำว่า
“อบรมสั่งสอน”
เมื่อพูดถึงระเบียบวินัย
ส่วนความคิดสร้างสรรค์
ใช้การส่งเสริมในทางที่ถูกต้อง
เด็กทุกคนมีจินตนาการขึ้นอยู่กับว่าได้รับการส่งเสริมหรือไม่
เพราะถ้าไม่ส่งเสริมไม่เพียงแต่ไม่เกิดแต่จะค่อยๆ
หายไปเมื่อเด็กโตขึ้น
สิ่งที่เหมือนกันและสำคัญมากที่ผู้ใหญ่ควรตระหนักอย่างยิ่งของทั้งสองอย่างนี้คือ
ต้องสร้างและส่งเสริมตั้งแต่เด็กยังเล็ก
ไม่เช่นนั้นจะยากมากขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุเด็ก
หลักที่ใช้เพื่อให้เกิดความสมดุล
หลักการที่ผู้ใหญ่ควรรู้และยึดเป็นแนวความคิด คือ
“การส่งเสริมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมมอยากสำรวจอยากเรียนรู้สิ่งใหม่
ห้ามปรามและสั่งสอนเมื่อเด็กมีพฤติกรรมอยากทำตามใจตนเองโดยไม่มีเหตุผล”
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการทำความเข้าใจ
ฉบับหน้าเราจะมาดูเรื่องของวิธีการและอุปสรรคในการสร้างและส่งเสริมเด็กของเรา
รวมทั้งสิ่งที่ผู้ใหญ่มักจะทำผิดพลาดโดยความเข้าใจที่ผิดหรือไม่ได้ตั้งใจด้วยกัน |